วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ในสมองของวัยรุ่น


               วัยรุ่น คือ ใคร....ตามที่คุ้นเคยวัยรุ่นคือบุคคลที่มีช่วงอายุระหว่าง 12 - 18ปี  ซึ่งเป็นวัยแห่งการค้นหาตัวตน  อารมณ์เดือดพล่าน  มั่นใจในตนเอง  ฯลฯ คนที่เคยผ่านพ้นช่วงวัยนี้มาคงพอจะนึกภาพออก เนื้อหาที่จะนำเสนอด้านล่างนี้มาจากนิตยสาร "National Geographic" ในหัวเรื่อง "ล้วงลับวิทยาศาสตร์ใหม่ เผยอัศจรรย์ในสมองวัยรุ่น" 
              เมื่อปลายศตวรรษที่ 20  นักวิจัยได้พัฒนาเทคโนโลยีถ่ายภาพสมองที่ช่วยให้เห็นสมองของวัยรุ่นด้วยรายละเอียดมากพอที่จะนำไปศึกษาพัฒนาการทางกายภาพและรูปแบบการทำงานของสมอง  ซึ่งเผยคำตอบที่ทำให้ทุกคนแปลกใจ  นั่นคือสมองใช้เวลาในการพัฒนานานกว่าที่คิด  การค้นพบนี้ให้ทั้งคำอธิบายที่ง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็ซับซ้อนเกี่ยวกับพฤติกรรมชวนปวดหัวของวัยรุ่น
              ผลการแสกนเต็มรูปแบบของสมองวัยรุ่นในขั้นพัฒนาชุดแรกภายใต้โครงการของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (National Institues of Health : NIH )  ที่ศึกษาคนหนุ่มสาวกว่าร้อยคนซึ่งเติบโตขึ้นในทศวรรษ 1990  เผยว่าสมองของคนเรามีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างครั้งใหญ่ในช่วงอายุ 12 ถึง 25 ปี  ในช่วงนี้สมองไม่ได้มีการเพิ่มของขนาด  (สมองมีขนาดร้อยละ 90 ของขนาดโตเต็มที่ตั้งแต่เราได้6ขวบแล้ว  และการที่ศีรษะมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นเพราะกะโหลกศีรษะหนาขึ้น)  แต่ขณะที่เราใช้ชีวิตผ่านช่วงวัยรุ่นกระบวนการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จะเกิดขึ้นในสมองคล้ายกับการยกระดับเครือข่ายและการเชื่อมต่อให้ดียิ่งขึ้น  เริ่มจากใยประสาท (axon) หรือแกนประสาทขาออกของสมองซึ่งเป็นเส้นใยของเซลล์ประสาท (neuron) ที่ใช้ส่งสัญญาณไปยังเซลล์ประสาทตัวอื่น  จะค่อยๆถูกห่อหุ้มด้วยสารจำพวกไขมันชื่อไมอีลิน  (myelin - เนื้อขาวของสมอง) ทำให้ใยประสาทส่งสัญญาณเร็วขึ้นเป็นร้อยเท่า  ในเวลาเดียวกันใยประสาทขาเข้าหรือเดนไดรต์ (dendrite) ที่แผ่กิ่งก้านออกจากเซลล์ประสาทเพื่อใช้รับสัญญาณจากใยประสาทที่อยู่ติดกันจะแตกกิ่งก้านสาขาเพิ่มขึ้น  ส่วนจุดประสานประสาท  (synapse) หรือบริเวณรอยต่อทางเคมีที่ใยประสาทขาเข้าและขาออกส่งต่อข้อมูลซึ่งมีการใช้งานบ่อยจะมีคุณภาพดีขึ้นและแข็งแรงขึ้น   พร้อมๆกับที่จุดประสานประสาทที่มีการใช้งานน้อยจะเริ่มฝ่อลง  การตัดแต่งจุดประสานประสาทนี้ทำให้เปลือกสมอง  (cortex หรือส่วนเนื้อเทา) ที่อยู่ชั้นนอกซึ่งเราใช้ในการรับรู้และการคิดสลับซับซ้อนจะเบาบางลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น  เมื่อรวมเข้าด้วยกัน  การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้สมองทำงานเร็วขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น
             กระบวนการที่นำไปสู่การเจริญเต็มที่นี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงวัยรุ่น  การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างช้าๆจากสมองส่วนหลังมายังส่วนหน้าจากบริเวณที่อยู่ใกล้กับก้านสมองที่ควบคุมการทำงานของพฤติกรรมขั้นพื้นฐาน  เช่น การมองเห็น  การเคลื่อนไหว  และกระบวนการพื้นๆ  ไปยังบริเวณที่วิวัฒน์ขึ้นใหม่ในส่วนหน้าซึ่งใช้ในกระบวนการคิดอันสลับซับซ้อน  คอร์ปัสคอลโลซัม  (corpus callosum)  ที่เชื่อมต่อสมองซีกซ้ายและขวา  และลำเลียงข้อมูลที่จำเป็นต่อการทำงานระดับสูงของสมองมีความหนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  การเชื่อมโยงที่แข็งแรงกว่าเดิมยังเกิดขึ้นระหว่างฮิบโปแคมปัสซึ่งเป็นส่วนที่เก็บรวบรวมความทรงจำกับสมองส่วนหน้าผากที่ใช้ในการวางเป้าหมายและการคิดตัดสินใจ  ทำให้เราใช้ความทรงจำและประสบการณ์ในการตัดสินใจได้ดีขึ้น  ขณะเดียวกันสมองส่วนหน้าผากก็พัฒนาให้ทำงานได้เร็วขึ้น  มีการเชื่อมต่อที่แข็งแรงและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  ทำให้เราสามารถคิดและประเมินตัวแปรและประเด็นต่างๆได้ดีขึ้น

          เมื่อพัฒนาการนี้ดำเนินไปตามปกติ  เราจะสามารถสร้างความสมดุลระหว่างแรงขับ  ความปรารถนา  จุดมุ่งหมาย  ประโยชน์ส่วนตน กฎเกณฑ์  จริยธรรม  และประโยชน์ส่วนรวมได้ดีขึ้น  ก่อเกิดรูปแบบพฤติกรรมที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น  และเป็นเหตุเป็นผลกว่าในบางครั้ง  แต่ในบางคราวโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยแรกรุ่น  สมองอาจยังทำงานมะงุมมะงาหราไปบ้าง  เหมือนฟันเฟืองใหม่มี่ยังขบกันไม่สนิท 
งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และบทความที่มีชื่อเสียงจำนวนมากเกี่ยวกับ "สมองวัยรุ่น"  แสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นเป็นเหมือน "งานที่ยังไม่เสร็จ" อีกทั้ง "สมองที่ยังเติบโตไม่เต็มที่"  ทำให้ผู้เชียวชาญบางคนตั้งคำถามว่าพวกเขาอยู่ในระยะคล้ายคลึงกับ "ปัญญาอ่อน"หรือไม่  ตลอดห้าปีที่ผ่านมา ขณะที่ทฤษฎี "งานที่ยังไม่เสร็จ"  เริ่มรู้จักกันแพร่หลายในวัฒนธรรมของเรา  นักวิจัยบางคนเริ่มมองการค้นพบด้านสมองและพันธุกรรมในแง่มุมแปลกใหม่และเป็นเชิงบวกโดยอาศัยทฤษฎีวิวัฒนาการ  ผลที่ได้คือคำอธิบายเกี่ยวกับสมองวัยรุ่นที่เรียกว่าเรื่องของวัยรุ่นนักปรับตัว (adaptive-adolescent story) ซึ่งฉายภาพวัยรุ่นว่าไม่ได้เป็นเหมือนภาพร่างหยาบๆของผู้ใหญ่  แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความอ่อนไหวและไวต่อการเปลี่ยนแปลง  ทั้งยังสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดีเยี่ยม  และมีสมองที่เกือบสมบูรณ์แบบในการทำงานเพื่อนำพาชีวิตที่ปลอดภัยในรั้วบ้านไปสู่โลกภายนอกอันสับสนวุ่นวาย
            ความเป็นวัยรุ่นที่เห็นเด่นชัด คือ การชอบสิ่งแปลกใหม่และน่าตื่นเต้น  วัยนี้เป็นวัยช่วงสูงสุดของสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมเรียกว่าการแสวงหาความเร้าใจ  หรือการตามล่าหาความเร้าอารมณ์จากสิ่งไม่ธรรมดาหรือเหนือความคาดคิด    ซึ่งจะพุ่งถึงขีดสุดเมื่ออายุ 15 ปี  และแม้ว่าการแสวงหาความเร้าใจอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นอันตรายได้  แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดพฤติกรรมเชิงบวกได้ด้วยเช่นกัน  เป็นต้นว่า  ความต้องการพบปะผู้คนมากขึ้นทำให้เรามีเพื่อนฝูงมากขึ้น   ซึ่งโดยรวมจะส่งผลให้เรามีสุขภาพดีขึ้น  มีความสุขมากขึ้น  อีกสิ่งหนึ่งที่จะเพิ่มถึงขีดสุดในช่วงวัยรุ่น  คือ การกล้าได้กล้าเสีย   วัยรุ่นเป็นวัยที่ชอบเสี่ยงมากกว่าวัยอื่นๆ  สิ่งนี้สอดคล้องกับผลที่ได้จากการทดลองที่มีการควบคุมซึ่งพบว่า  วัยรุ่นมีแนวโน้มทำอะไรเสี่ยงๆมากขึ้น  ตั้งแต่การเล่นเกมไพ่ไปจนถึงการจำลองการขับรถสะท้อนให้เห็นในชีวิตจริงด้วยว่าในช่วงอายุระหว่าง 15 ถึง 25 ปี เป็นวัยที่คนเราทดลองเสี่ยงในทุกเรื่องมากที่สุดและประสบผลลัพท์อันน่าเศร้ามากที่สุดเช่นกัน     ทว่าคำอธิบายเหล่านี้ไม่ถูกต้องนัก  อย่างที่ลอเรนซ์  สไตเบอร์ก นักจิตวิทยาพัฒนาการผู้เชี่ยวชาญด้านวัยรุ่น ชี้ให้เห็น  เพราะแม้แต่คนในวัย 14 - 17 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กล้าเสียงที่สุดก็ยังใช้กระบวนการคิดและเหตุผลในการแก้ปัญหาไม่ต่างจากผู้ใหญ่  พวกเขารู้ตัวดีว่าไม่ได้อยู่ยงคงกระพันซึ่งขัดกับความเชื่อที่คนทั่วไปมองเพราะจริงๆแล้ววัยรุ่นประเมินความเสี่ยงไว้สูงกว่าความเป็นจริงไม่ต่างจากผู้ใหญ่เลย  ในสถานการณ์ที่ความเสี่ยงสามารถให้สิ่งที่พวกเขาต้องการวัยรุ่นจะให้ความสำคัญหรือคุณค่ากับรางวัลตอบแทนมากกว่าผู้ใหญ่ในสถานการณ์เดียวกัน  นอกจากนี้แล้วสมองของวัยรุ่นยังไวต่อออกซีโทซิน  ฮอร์โมนประสาทอีกชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อทำงานร่วมกับตัวแปรอื่นๆจะทำให้ความผูกพันทางสังคมมีความหมายมากเป็นพิเศษ  เครื่อข่ายและการทำงานของระบบประสาทซึ่งเกี่ยวข้องกับความพึงพอใจและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมีการคาบเกี่ยวกันสูง  เมื่อกระตุ้นสิ่งหนึ่งอีกสิ่งหนึ่งก็จะถูกกระตุ้นตาม  ถ้ากระตุ้นทั้งสองส่วนในวัยรุ่น  ก็เหมือนราดน้ำมันใส่กองไฟดีดีนี่เอง  สิ่งนี้สามารถอธิบายได้ว่าวัยรุ่นชอบรวมกลุ่มกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันมากกว่าตอนที่เป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่  ความต้องการมีเพื่อนวัยเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นเพราะวัยรุ่นสนใจความแปลกใหม่  เพราะวัยรุ่นมักค้นพบหรือแบ่งปันประสบการณ์ใหม่ๆซึ่งกันและกันได้มากกว่าสมาชิกในครอบครัว   อีกทั้งยังพบว่าวัยรุ่นทุ่มเทให้กับอนาคตมากกว่าอดีต  อดีตในที่นี้คือการถือกำเนิดขึ้นในโลกที่พ่อแม่เป็นผู้สร้างขึ้น แต่กับกลุ่มเพื่อนคือการขับเคลื่อนสังสรรค์  สัมพันธภาพระหว่างเพื่อนมีผลมากต่อความสำเร็จ  ดังการศึกษาผลการแสกนสมองบางกรณีชี้ให้เห็นว่า  สมองมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการถูกเพื่อนๆกีดกันมากพอๆกับการตอบสนองต่อภัยคุกคามในชีวิตหรือแหล่งอาหาร  นั่นคือระบบประสาทของเรารับรู้การปฏิเสธสังคมว่าเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอด  รู้อย่างนี้แล้วเราน่าจะเข้าใจหัวอกของเด็กวัย13 ปี ที่สติแตกหลังโดนเพือนหักหลัง  หรือเด็กวัย 15 ปี ที่ออกอาการหมดอาลัยตายอยากเพราะเพื่อนไม่ชวนไปร่วมงานปาร์ตี้

           เด็กวัยรุ่นอาจจะมีภาวะสมองอันงุ่มง่าม  แต่ส่วนที่น่าทึ่งในสมองของวัยรุ่นนั่นก็คือการคงความยืดหยุ่นของสมองส่วนหน้าที่พัฒนาหลังส่วนอื่นๆโดยจะพัฒนาเต็มที่อย่างช้าๆ  ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า  บริเวณนี้เป็นส่วนสุดท้ายที่มีการสร้างไมอีลินอันอุดมไปด้วยไขมันขึ้นห่อหุ้มใยประสาท  ไมอีลินหรือส่วนเนื้อขาวของสมองนี้เองที่เอื้อให้การส่งกระแสประสาททำได้เร็วยิ่งขึ้น  แล้วทำไมสมองจึงไม่พัฒนาให้เร็วพอในตอนที่คนเราต้องเผชิญกับเรื่องท้าทายอย่างที่สุด คำตอบก็คือ ความเร็วทำให้ความยืดหยุ่นลดลง ขณะที่การห่อหุ้มด้วยไมอีลินทำให้ใยประสาทส่งกระแสประสาทได้เร็วขึ้น มันกลับไปยับยั้งการแตกกิ่งก้านสาขาใหม่ของใยประสาทตามที่ดักลาส ฟีลด์ส นักประสาทวิทยาศาสตร์จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ศึกษาไมอีลินเป็นเวลาหลายปีกล่าวไว้ว่า "นี่ทำให้ช่วงเวลาที่สมองบริเวณหนึ่งๆสร้างไมอีลินขึ้นมาเป็นช่วงที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการเรียนรู้ นั่นคือสมองมีการอัปเกรดการเชื่อมต่อ แต่เมื่อกระบวนการดังกล่าวเสร็จสิ้นลงก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลง"
           ช่วงเวลาดังกล่าวแตกต่างกันออกไปในสมองแต่ละส่วน เช่น สมองส่วนภาษาต้องได้รับการห่อหุ้มจากไมอีลินอย่างมากในช่วง 13 ปีแรกของชีวิตขณะที่เด็กกำลังเรียนรู้ภาษา. กระบวนการห่อหุ้มอย่างสมบูรณ์ทำให้สิ่งที่เรียนรู้นั้นคงอยู่แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้การเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างเช่นภาษาที่สองทำได้ยากขึ้น การก่อตัวหรือห่อหุ้มด้วยไมอีลินของสมองส่วนหน้าที่ชะลอมาจนถึงช่วงท้ายของวัยรุ่นและวัยยี่สิบต้นๆนี้ ทำให้สมองมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น ขณะที่เราก้าวเข้าสู่โลกกว้างและเผชิญความท้าทายในฐานะผู้ใหญ่ กระบวนการพัฒนาของสมองที่กินเวลายาวนานเชื่องช้าจากส่วนหลังไปส่วนหน้า ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ในช่วงกลางของวัย 20 ปี ดูเหมือนเป็นกลยุทธ์การปรับตัวอันเป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์  และอาจเป็นการปรับตัวที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งที่ส่งผลต่อเผ่าพันธุ์ของเรา

                                                                อาจารย์อุมาพร  ไวยารัตน์  ผู้เรียบเรียง
ละครชุด "ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น" ตอนอะดรีนาลีน

วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การเรียนรู้


การเรียนรู้คืออะไร

         การเรียนรู้หมายถึง การที่บุคคลได้รับประสบการณ์หรือมีการฝึกหัด เกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จนผลทำให้บุคคลมีความสามารถหรือจิตใจเปลี่ยนไปจากเดิม และแสดงให้รู้ได้โดยการมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างถาวรหรือค่อนข้างจะถาวร แต่พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงนี้ จะต้องไม่ใช่เป็นผลของการมีวุฒิภาวะ การเจ็บป่วย การใช้ยา การใช้เครื่องดื่ม หรือของมึนเมาหรืออุบัติเหตุ

องค์ประกอบของการเรียนรู้

1.      ผู้เรียน  (Learner)  หมายถึง มนุษย์ที่มีอวัยวะรับสัมผัส (Sense Organs) เพื่อใช้รับสิ่งเร้าต่างๆ

2.      สิ่งที่เรียนหรือบทเรียน (Stimulus)  เหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่เป็นสิ่งเร้า ซึ่งกระตุ้นประสาทความรู้สึกของผู้เรียนเป็นผลให้ผู้เรียนกระทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งพฤติกรรมภายในและที่สังเกตเห็นได้

3.      กระบวนการเรียน (Learning Process) เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่าง  ตัวผู้เรียนกับสิ่งที่เรียน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น  จะต้องมีความต่อเนื่องกัน จนกระทั่งผู้เรียนเกิดการเรียนรู้

ตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้

1.     ตัวแปรเกี่ยวกับผู้เรียน ความแตกต่างระหว่างผู้เรียน  เป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อผลการเรียนรู้  ความแตกต่างที่สำคัญ  เช่น  ความสมบูรณ์ของร่างกายและอวัยวะต่างๆ ความสนใจ แรงจูงใจ ประสบการณ์เดิม  สมรรถวิสัย  วุฒิภาวะ  เพศ  และอายุ

2.     ตัวแปรเกี่ยวกับบทเรียน  เช่น  ความยากง่าย  ของบทเรียน ความสั้นยาวของบทเรียน ความมีประโยชน์ของบทเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เรียนก่อนกับสิ่งที่เรียนหลัง ฯลฯ

3.     ตัวแปรที่เกี่ยวกับวิธีเรียน  เช่น  การฝึกหัด  การท่องจำ  การเรียนเพิ่ม  การใช้ประสาทรับรู้หลายๆทาง  การรับรู้ผลการเรียน  การจำแนกแยกแยะ  การหาความสัมพันธ์ ฯลฯ

สิ่งที่จะช่วยทำให้เป็นครูที่ดี

1.      ความพร้อม (Readiness) ได้แก่ความสมบูรณ์ของร่างกายและประสาทรับสัมผัส  ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการเรียนรู้ครั้งนั้นๆ  ตลอดจนประสบการณ์เดิมซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการเรียนรู้

2.      การจูงใจ (Motivation)  คือการกระตุ้นให้เกิดความต้องการ  เกิดความอยากรู้อยากเห็น  เกิดความสนใจและความตั้งใจ

3.      ความสนใจ (Interest)  ผู้เรียนที่มีความสนใจ  ในสิ่งที่ตนเรียน จะไม่มีความรู้สึกเบื่อหน่ายบทเรียนและช่วยให้เกิดการเรียนได้ง่ายและรวดเร็ว

4.      การกระทำซ้ำ (Repeated) คือการที่ผู้เรียนกระทำกิจกรรมที่ตนเรียนรู้มาแล้วซ้ำอีกเพื่อให้เกิดความชำนาญ

5.      การถ่ายโยง (Transfer) คือการที่ผู้เรียนนำเอาความรู้เดิม หรือประสบการณ์เดิมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้บทเรียนใหม่

6.      ความสามารถทางสมอง (Mental Ability) ผู้เรียนที่มีความสามารถทางสมองสูง  ย่อมสามารถเกิดการเรียนรู้ได้เร็ว  และสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆได้มาก

7.      สุขภาพจิต (Mental Health) ผู้เรียนที่มีสุขภาพจิตที่ดี ไม่มีปัญหา  มีความเต็มใจในการทำกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเรียน  จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ง่ายและรวดเร็ว

สิ่งที่จะช่วยทำให้เป็นครูที่ดี

1.     มีความเชี่ยวชาญทางวิชาการที่ตนสอน

2.     มีความชอบความรักในวิชาการที่ตนสอน ถ้าไม่ชอบก็ควรจะไปประกอบอาชีพอื่น

3.     มีความสุขในการสอน ให้ความรัก ความสนใจในตัวผู้เรียน

4.     ศึกษาผู้เรียนเป็นรายบุคคล เพื่อทำความรู้จักและเข้าใจ  แล้วจัดบทเรียนให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก

 

 

 

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สมองกับการเรียนรู้

 
 
 
           สมองทำงานได้อย่างไร

สมอง ทำหน้าที่บัญชาการของระบบประสาทส่วนกลางทั้งหมด ควบคุมดูแลการรับรู้ประสาทสัมผัสต่างๆ(ความรู้สึกนึกคิด, การเคลื่อนไหวของอวัยวะต่างๆ)
ส่วนประกอบของสมอง

l  ซีรีเบลลัม              ควบคุมการเคลื่อนไหวและการทรงตัว

l  ซีรีบรัม               เป็นสมองส่วนที่มีเนื้อมากที่สุดดูแลเรื่องความจำ ความรู้สึกนึกคิด  เชาวน์ปัญญาโดยถูกแบ่งเป็นสองซีก ซึ่งทำงานประสานกันตลอดเวลา

l  ก้านสมอง               เป็นส่วนที่รับและถ่ายทอดข้อมูลจากประสาทสัมผัสต่างๆ ดูเรื่องจังหวะการเต้นของหัวใจ ปฏิกิริยาตอบสนอง   

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับสมอง

l  สมองของเด็กมีความยืดหยุ่นกว่าผู้ใหญ่

l  เด็กแต่ละวัยจะเปิดรับต่างกัน เด็กพัฒนาการเรียนรู้ ด้านภาษา และด้านร่างกายได้ดีกว่าผู้ใหญ่ (บัลเล่ต์)

l  ส่วนที่พัฒนาช้าที่สุดของสมองคือ ส่วนการคิด และการตัดสินใจ ซึ่งจะพัฒนาเต็มครบส่วนตอนอายุ 25 ปี

l  สมองส่วนคิด 80 %  สมองส่วนอยาก 20 % (อารมณ์ สัญชาตญาณ ซึ่งควบคุมพฤติกรรมต่างๆ)

l  สมองส่วนคิด มีความสามารถในการเรียนรู้อย่างไร้ขอบเขต เรียนรู้ได้ดีในภาวะอารมณ์ด้านบวก คือ สนุก ท้าทาย มีความสุข สงบ  ในทางกลับกันจะเรียนรู้ได้ลดลงในภาวะอารมณ์ด้านลบ คือ น่าเบื่อ เครียด  วุ่นวาย นอกจากนั้นสมองยังเรียนรู้จากสังคมและผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ พี่น้องหรือเพื่อน

l  ช่วง 20 ปีแรก สมองจะเรียนรู้ได้มาก และการเรียนรู้นั้นก็แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย เพราะสมองมีการจัดระเบียบเส้นใยประสาทจากด้านหลังมาด้านหน้า   สมองส่วนไหนมีการจัดระเบียบก่อน ก็จะทำให้เรียนรู้ได้ง่ายในช่วงวัยนั้น

l  วัยทารก  เรียนรู้เกี่ยวกับการสัมผัสและกล้ามเนื้อใหญ่

l  วัย 3 – 5 ปี สมองจะเรียนรู้ในด้านภาษา ความคิด และจินตนาการ ซึ่งจะต่อเนื่องไปถึงวัยเรียน

l  วัย 6 – 12 ปี ในลักษณะของภาษา คณิต วิทยาศาสตร์ และความคิดสร้างสรรค์ในด้านศิลปะ  ดนตรี และกีฬา

l  วัย 12 – 20 ปี สมองส่วนหน้าสุดจะมีการจัดระเบียบเส้นใยประสาท ทำให้มีการเรียนรู้ในด้านวิจารณญาณและการตัดสินใจ

l  เมื่อถูกกระตุ้นและได้รับการพัฒนา สมองจะสร้างเส้นใยประสาทเป็นจำนวนมาก  ส่วนที่ใช้บ่อยๆจะหนาขึ้นเป็นวงจรการเรียนรู้ ส่วนที่ไม่ถูกใช้ก็จะค่อยๆหายไป ซึ่งก็คือการจัดระเบียบเส้นใยประสาทนั่นเอง

l  สมองเป็นอวัยวะที่ขี้เกียจมาก ถ้าไม่ใช้ก็จะหยุดทำงาน ถูกตัดทิ้งไป

l  สมองที่ฝึกฝนและจัดกิจกรรมให้ทำต่อเนื่อง จะขยายเส้นใยสมองในด้านนั้นๆ

กิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมอง

l  ฟังเพลง, ออกท่าทาง, เต้นรำ, ร้องเพลง

l  พูดคุยและสนทนาโต้ตอบ

l  สัมผัสและนวด / กระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5

l  ชมเชยและให้กำลังใจ

l  จำกัดการดูโทรทัศน์และการเล่นวิดีโอเกม

l  สนับสนุนให้ทำงานอดิเรก

l  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

l  เข้านอนเป็นเวลา

l  หัดถามและตอบ

l  ใช้ภาษาอย่างสร้างสรรค์

                                                    แหล่งอ้างอิง
  
 คริสทีน วอร์ด.  มหัศจรรย์สมองของลูกรัก.  กรุงเทพฯ : แปลน ฟอร์ คิดส์, 2546.
 วนิษา เรซ. อัจฉริยะสร้างได้.  ปทุมธานี:อัจฉริยะสร้างได้, 2550.  
 

ทำไมต้องเรียนจิตวิทยาสำหรับครู

ทำไมต้องเรียนจิตวิทยาสำหรับครู?



วิชาชีพครู เป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญมาก ผู้ที่จะมาเป็นครูนั้น ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ มีการฝึกฝนทักษะการสอนให้มีความเชียวชาญ  นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจิตวิทยารวมทั้งการนำมาปรับใช้กับกระบวนการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ครูนั้นมีความเข้าใจในตัวเด็ก สามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับพัฒนาการ ความแตกต่างระหว่างบุคคล และความสามารถทางสมอง  นอกจากนี้แล้วครูควรมีความรักและความเมตตาต่อศิษย์ให้เปรียบเสมือนเป็นบุตร  ครูผู้นั้นจึงจะได้ชื่อว่า "เป็นครูที่ดี"
Children full of life ครูกานามูริ

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

เซ็งจิต......ใครช่วยที



          ในการดำเนินชีวิตของเราบางครั้งย่อมพบเจอกับอุปสรรคหรือสิ่งกีดขวาง ซึ่งมักจะเข้ามารบกวนจิตใจของเราอยู่บ่อยๆ  ในสภาวะนั้นเราจะมีความทุกข์ จิตตก  เกิดอาการ "เซ็ง" ไม่อยากจะทำอะไร ซึ่งความเซ็งนี้มีหลายระดับ  ถ้าหนักสักหน่อยจะเกิดรู้สึกเจ็บปวด เบื่อหน่าย สูญสิ้นไปซึ่งความหวังและกำลังใจ หมดพลังจนอาจเกิดอาการเข่าอ่อน หน้ามืด หรือปวดศีรษะแบบไม่มีสาเหตุ  ถ้าอาการแบบนี้เกิดขึ้นกับบุคคลที่มีสุขภาพจิตปกติไปถึงดี บุคคลนั้นก็จะสามารถจัดการกับอารมณ์และเผชิญหน้ากับปัญหา  พยายามหาวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง  และกลับมาทำหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบได้     ในบุคคลบางกลุ่มที่มีอัตมโนทัศน์ (Self Concept) ต่อตนเองในด้านลบ  จะเกิดปัญหาอย่างมากในการจัดการกับความคิดของตนเอง จะเกิดความทุกข์ ซึ่งส่งผลให้กระอักกระอ่วน  มีความคิดที่ไม่สมเหตุสมผล เกิดความคับข้องใจจนทำให้ควบคุมตนเองไม่ได้    เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต จนถึงขั้นขนาดคิดทำร้ายตนเองก็เป็นได้.....การตั้งสติและเผชิญกับปัญหาน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด  ตัวเราเองต้องพยายามสังเกตอาการของตนเอง  บางคนอาจจะต้องมีที่ปรึกษาที่คอยรับฟัง และให้กำลังใจ  บางคนอาจจะใช้วิธีการอยู่กับตัวเอง  อ่านหนังสือ  และทำสมาธิ ต้องทำใจยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง........สิ่งสำคัญคือจิตใจของเราต้องเติมเต็มให้สมบูรณ์  เปลี่ยนวิธีคิดให้เป็นไปในทางบวกและมีความพอใจในแบบฉบับของแต่ละคน
         

วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

รู้รัก...รู้สอน เด็กพิเศษ

        อาชีพ "ครู" เป็นอาชีพที่ช่วยพัฒนาคน ซึ่งพัฒนาทั้งทางด้านความรู้และระดับของจิตใจ  ด้วยบทบาทและภาระหน้าที่  ครูจึงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในการออกแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับผู้เรียน  ความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียนเป็นสิ่งที่ครูต้องทำความเข้าใจ และสอนให้ผู้เรียนหรือลูกศิษย์ได้พัฒนาตนเองตามศักยภาพ 
       ในการสอนเด็กพิเศษนั้น มีข้อจำกัดในเรื่องของระดับสติปัญญา สิ่งที่ครูพอจะทำได้คือพยายามเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการ ให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุขและเป็นธรรมชาติ  ซึ่ง. ดร.  ศรินทร วิทยะสิรินันท์ (ครูสอนเด็กพิเศษระดับมัธยมศึกษาร.ร.นานาชาติเซนท์แอนดรู). ได้สรุปไว้ดังต่อไปนี้
1.  ยอมรับเด็กตามระดับที่เขาเป็นอยู่จริงๆ. ไม่ใช่คาดหวังให้เขาทำได้เหมือนเพื่อนๆในชั้นและทำให้เราผิดหวังและโกรธเมื่อเขาไม่สามมาระทำได้อย่างที่เราคาดหวัง.  การเรียนรู้ที่จะยอมรับเด็กตามความเป็นจริงเป็นการพัฒนาตนอย่างสำคัญของครูเพราะครูที่ดีควรรู้จักและทำงานกับนักเรียนของตนได้ตามระดับความสามาราก้จริงของเขา
2.  ศึกษาเด็กและพิจารณาว่ามีด้านใดของเขาที่ต่างจากเพื่อนๆมากจนเราต้องรีบดำเนินการให้ความช่วยเหลือ
3.  ตั้งวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ของเขาให้สมเหตุสมผลพอที่จะเป็นได้ภายในเวลาไม่นานเกินไป
4.  ย่อยงาน (ภาษาในวิชาการเขาเรียกว่า task. Analysis). หมายถึงการพิจารณาว่าสิ่งที่เราอยากให้เขาได้ทำนั้นประกอบด้วยองค์ประกอบอะไรบ้าง หรือมีลำดับขั้นของความสามารถอะไรบ้าง
บูรณาการชีวิต พัฒนาเด็กพิเศษ (วัยรุ่น)