วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ในสมองของวัยรุ่น


               วัยรุ่น คือ ใคร....ตามที่คุ้นเคยวัยรุ่นคือบุคคลที่มีช่วงอายุระหว่าง 12 - 18ปี  ซึ่งเป็นวัยแห่งการค้นหาตัวตน  อารมณ์เดือดพล่าน  มั่นใจในตนเอง  ฯลฯ คนที่เคยผ่านพ้นช่วงวัยนี้มาคงพอจะนึกภาพออก เนื้อหาที่จะนำเสนอด้านล่างนี้มาจากนิตยสาร "National Geographic" ในหัวเรื่อง "ล้วงลับวิทยาศาสตร์ใหม่ เผยอัศจรรย์ในสมองวัยรุ่น" 
              เมื่อปลายศตวรรษที่ 20  นักวิจัยได้พัฒนาเทคโนโลยีถ่ายภาพสมองที่ช่วยให้เห็นสมองของวัยรุ่นด้วยรายละเอียดมากพอที่จะนำไปศึกษาพัฒนาการทางกายภาพและรูปแบบการทำงานของสมอง  ซึ่งเผยคำตอบที่ทำให้ทุกคนแปลกใจ  นั่นคือสมองใช้เวลาในการพัฒนานานกว่าที่คิด  การค้นพบนี้ให้ทั้งคำอธิบายที่ง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็ซับซ้อนเกี่ยวกับพฤติกรรมชวนปวดหัวของวัยรุ่น
              ผลการแสกนเต็มรูปแบบของสมองวัยรุ่นในขั้นพัฒนาชุดแรกภายใต้โครงการของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (National Institues of Health : NIH )  ที่ศึกษาคนหนุ่มสาวกว่าร้อยคนซึ่งเติบโตขึ้นในทศวรรษ 1990  เผยว่าสมองของคนเรามีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างครั้งใหญ่ในช่วงอายุ 12 ถึง 25 ปี  ในช่วงนี้สมองไม่ได้มีการเพิ่มของขนาด  (สมองมีขนาดร้อยละ 90 ของขนาดโตเต็มที่ตั้งแต่เราได้6ขวบแล้ว  และการที่ศีรษะมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นเพราะกะโหลกศีรษะหนาขึ้น)  แต่ขณะที่เราใช้ชีวิตผ่านช่วงวัยรุ่นกระบวนการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จะเกิดขึ้นในสมองคล้ายกับการยกระดับเครือข่ายและการเชื่อมต่อให้ดียิ่งขึ้น  เริ่มจากใยประสาท (axon) หรือแกนประสาทขาออกของสมองซึ่งเป็นเส้นใยของเซลล์ประสาท (neuron) ที่ใช้ส่งสัญญาณไปยังเซลล์ประสาทตัวอื่น  จะค่อยๆถูกห่อหุ้มด้วยสารจำพวกไขมันชื่อไมอีลิน  (myelin - เนื้อขาวของสมอง) ทำให้ใยประสาทส่งสัญญาณเร็วขึ้นเป็นร้อยเท่า  ในเวลาเดียวกันใยประสาทขาเข้าหรือเดนไดรต์ (dendrite) ที่แผ่กิ่งก้านออกจากเซลล์ประสาทเพื่อใช้รับสัญญาณจากใยประสาทที่อยู่ติดกันจะแตกกิ่งก้านสาขาเพิ่มขึ้น  ส่วนจุดประสานประสาท  (synapse) หรือบริเวณรอยต่อทางเคมีที่ใยประสาทขาเข้าและขาออกส่งต่อข้อมูลซึ่งมีการใช้งานบ่อยจะมีคุณภาพดีขึ้นและแข็งแรงขึ้น   พร้อมๆกับที่จุดประสานประสาทที่มีการใช้งานน้อยจะเริ่มฝ่อลง  การตัดแต่งจุดประสานประสาทนี้ทำให้เปลือกสมอง  (cortex หรือส่วนเนื้อเทา) ที่อยู่ชั้นนอกซึ่งเราใช้ในการรับรู้และการคิดสลับซับซ้อนจะเบาบางลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น  เมื่อรวมเข้าด้วยกัน  การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้สมองทำงานเร็วขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น
             กระบวนการที่นำไปสู่การเจริญเต็มที่นี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงวัยรุ่น  การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างช้าๆจากสมองส่วนหลังมายังส่วนหน้าจากบริเวณที่อยู่ใกล้กับก้านสมองที่ควบคุมการทำงานของพฤติกรรมขั้นพื้นฐาน  เช่น การมองเห็น  การเคลื่อนไหว  และกระบวนการพื้นๆ  ไปยังบริเวณที่วิวัฒน์ขึ้นใหม่ในส่วนหน้าซึ่งใช้ในกระบวนการคิดอันสลับซับซ้อน  คอร์ปัสคอลโลซัม  (corpus callosum)  ที่เชื่อมต่อสมองซีกซ้ายและขวา  และลำเลียงข้อมูลที่จำเป็นต่อการทำงานระดับสูงของสมองมีความหนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  การเชื่อมโยงที่แข็งแรงกว่าเดิมยังเกิดขึ้นระหว่างฮิบโปแคมปัสซึ่งเป็นส่วนที่เก็บรวบรวมความทรงจำกับสมองส่วนหน้าผากที่ใช้ในการวางเป้าหมายและการคิดตัดสินใจ  ทำให้เราใช้ความทรงจำและประสบการณ์ในการตัดสินใจได้ดีขึ้น  ขณะเดียวกันสมองส่วนหน้าผากก็พัฒนาให้ทำงานได้เร็วขึ้น  มีการเชื่อมต่อที่แข็งแรงและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  ทำให้เราสามารถคิดและประเมินตัวแปรและประเด็นต่างๆได้ดีขึ้น

          เมื่อพัฒนาการนี้ดำเนินไปตามปกติ  เราจะสามารถสร้างความสมดุลระหว่างแรงขับ  ความปรารถนา  จุดมุ่งหมาย  ประโยชน์ส่วนตน กฎเกณฑ์  จริยธรรม  และประโยชน์ส่วนรวมได้ดีขึ้น  ก่อเกิดรูปแบบพฤติกรรมที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น  และเป็นเหตุเป็นผลกว่าในบางครั้ง  แต่ในบางคราวโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยแรกรุ่น  สมองอาจยังทำงานมะงุมมะงาหราไปบ้าง  เหมือนฟันเฟืองใหม่มี่ยังขบกันไม่สนิท 
งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และบทความที่มีชื่อเสียงจำนวนมากเกี่ยวกับ "สมองวัยรุ่น"  แสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นเป็นเหมือน "งานที่ยังไม่เสร็จ" อีกทั้ง "สมองที่ยังเติบโตไม่เต็มที่"  ทำให้ผู้เชียวชาญบางคนตั้งคำถามว่าพวกเขาอยู่ในระยะคล้ายคลึงกับ "ปัญญาอ่อน"หรือไม่  ตลอดห้าปีที่ผ่านมา ขณะที่ทฤษฎี "งานที่ยังไม่เสร็จ"  เริ่มรู้จักกันแพร่หลายในวัฒนธรรมของเรา  นักวิจัยบางคนเริ่มมองการค้นพบด้านสมองและพันธุกรรมในแง่มุมแปลกใหม่และเป็นเชิงบวกโดยอาศัยทฤษฎีวิวัฒนาการ  ผลที่ได้คือคำอธิบายเกี่ยวกับสมองวัยรุ่นที่เรียกว่าเรื่องของวัยรุ่นนักปรับตัว (adaptive-adolescent story) ซึ่งฉายภาพวัยรุ่นว่าไม่ได้เป็นเหมือนภาพร่างหยาบๆของผู้ใหญ่  แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความอ่อนไหวและไวต่อการเปลี่ยนแปลง  ทั้งยังสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดีเยี่ยม  และมีสมองที่เกือบสมบูรณ์แบบในการทำงานเพื่อนำพาชีวิตที่ปลอดภัยในรั้วบ้านไปสู่โลกภายนอกอันสับสนวุ่นวาย
            ความเป็นวัยรุ่นที่เห็นเด่นชัด คือ การชอบสิ่งแปลกใหม่และน่าตื่นเต้น  วัยนี้เป็นวัยช่วงสูงสุดของสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมเรียกว่าการแสวงหาความเร้าใจ  หรือการตามล่าหาความเร้าอารมณ์จากสิ่งไม่ธรรมดาหรือเหนือความคาดคิด    ซึ่งจะพุ่งถึงขีดสุดเมื่ออายุ 15 ปี  และแม้ว่าการแสวงหาความเร้าใจอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นอันตรายได้  แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดพฤติกรรมเชิงบวกได้ด้วยเช่นกัน  เป็นต้นว่า  ความต้องการพบปะผู้คนมากขึ้นทำให้เรามีเพื่อนฝูงมากขึ้น   ซึ่งโดยรวมจะส่งผลให้เรามีสุขภาพดีขึ้น  มีความสุขมากขึ้น  อีกสิ่งหนึ่งที่จะเพิ่มถึงขีดสุดในช่วงวัยรุ่น  คือ การกล้าได้กล้าเสีย   วัยรุ่นเป็นวัยที่ชอบเสี่ยงมากกว่าวัยอื่นๆ  สิ่งนี้สอดคล้องกับผลที่ได้จากการทดลองที่มีการควบคุมซึ่งพบว่า  วัยรุ่นมีแนวโน้มทำอะไรเสี่ยงๆมากขึ้น  ตั้งแต่การเล่นเกมไพ่ไปจนถึงการจำลองการขับรถสะท้อนให้เห็นในชีวิตจริงด้วยว่าในช่วงอายุระหว่าง 15 ถึง 25 ปี เป็นวัยที่คนเราทดลองเสี่ยงในทุกเรื่องมากที่สุดและประสบผลลัพท์อันน่าเศร้ามากที่สุดเช่นกัน     ทว่าคำอธิบายเหล่านี้ไม่ถูกต้องนัก  อย่างที่ลอเรนซ์  สไตเบอร์ก นักจิตวิทยาพัฒนาการผู้เชี่ยวชาญด้านวัยรุ่น ชี้ให้เห็น  เพราะแม้แต่คนในวัย 14 - 17 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กล้าเสียงที่สุดก็ยังใช้กระบวนการคิดและเหตุผลในการแก้ปัญหาไม่ต่างจากผู้ใหญ่  พวกเขารู้ตัวดีว่าไม่ได้อยู่ยงคงกระพันซึ่งขัดกับความเชื่อที่คนทั่วไปมองเพราะจริงๆแล้ววัยรุ่นประเมินความเสี่ยงไว้สูงกว่าความเป็นจริงไม่ต่างจากผู้ใหญ่เลย  ในสถานการณ์ที่ความเสี่ยงสามารถให้สิ่งที่พวกเขาต้องการวัยรุ่นจะให้ความสำคัญหรือคุณค่ากับรางวัลตอบแทนมากกว่าผู้ใหญ่ในสถานการณ์เดียวกัน  นอกจากนี้แล้วสมองของวัยรุ่นยังไวต่อออกซีโทซิน  ฮอร์โมนประสาทอีกชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อทำงานร่วมกับตัวแปรอื่นๆจะทำให้ความผูกพันทางสังคมมีความหมายมากเป็นพิเศษ  เครื่อข่ายและการทำงานของระบบประสาทซึ่งเกี่ยวข้องกับความพึงพอใจและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมีการคาบเกี่ยวกันสูง  เมื่อกระตุ้นสิ่งหนึ่งอีกสิ่งหนึ่งก็จะถูกกระตุ้นตาม  ถ้ากระตุ้นทั้งสองส่วนในวัยรุ่น  ก็เหมือนราดน้ำมันใส่กองไฟดีดีนี่เอง  สิ่งนี้สามารถอธิบายได้ว่าวัยรุ่นชอบรวมกลุ่มกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันมากกว่าตอนที่เป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่  ความต้องการมีเพื่อนวัยเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นเพราะวัยรุ่นสนใจความแปลกใหม่  เพราะวัยรุ่นมักค้นพบหรือแบ่งปันประสบการณ์ใหม่ๆซึ่งกันและกันได้มากกว่าสมาชิกในครอบครัว   อีกทั้งยังพบว่าวัยรุ่นทุ่มเทให้กับอนาคตมากกว่าอดีต  อดีตในที่นี้คือการถือกำเนิดขึ้นในโลกที่พ่อแม่เป็นผู้สร้างขึ้น แต่กับกลุ่มเพื่อนคือการขับเคลื่อนสังสรรค์  สัมพันธภาพระหว่างเพื่อนมีผลมากต่อความสำเร็จ  ดังการศึกษาผลการแสกนสมองบางกรณีชี้ให้เห็นว่า  สมองมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการถูกเพื่อนๆกีดกันมากพอๆกับการตอบสนองต่อภัยคุกคามในชีวิตหรือแหล่งอาหาร  นั่นคือระบบประสาทของเรารับรู้การปฏิเสธสังคมว่าเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอด  รู้อย่างนี้แล้วเราน่าจะเข้าใจหัวอกของเด็กวัย13 ปี ที่สติแตกหลังโดนเพือนหักหลัง  หรือเด็กวัย 15 ปี ที่ออกอาการหมดอาลัยตายอยากเพราะเพื่อนไม่ชวนไปร่วมงานปาร์ตี้

           เด็กวัยรุ่นอาจจะมีภาวะสมองอันงุ่มง่าม  แต่ส่วนที่น่าทึ่งในสมองของวัยรุ่นนั่นก็คือการคงความยืดหยุ่นของสมองส่วนหน้าที่พัฒนาหลังส่วนอื่นๆโดยจะพัฒนาเต็มที่อย่างช้าๆ  ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า  บริเวณนี้เป็นส่วนสุดท้ายที่มีการสร้างไมอีลินอันอุดมไปด้วยไขมันขึ้นห่อหุ้มใยประสาท  ไมอีลินหรือส่วนเนื้อขาวของสมองนี้เองที่เอื้อให้การส่งกระแสประสาททำได้เร็วยิ่งขึ้น  แล้วทำไมสมองจึงไม่พัฒนาให้เร็วพอในตอนที่คนเราต้องเผชิญกับเรื่องท้าทายอย่างที่สุด คำตอบก็คือ ความเร็วทำให้ความยืดหยุ่นลดลง ขณะที่การห่อหุ้มด้วยไมอีลินทำให้ใยประสาทส่งกระแสประสาทได้เร็วขึ้น มันกลับไปยับยั้งการแตกกิ่งก้านสาขาใหม่ของใยประสาทตามที่ดักลาส ฟีลด์ส นักประสาทวิทยาศาสตร์จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ศึกษาไมอีลินเป็นเวลาหลายปีกล่าวไว้ว่า "นี่ทำให้ช่วงเวลาที่สมองบริเวณหนึ่งๆสร้างไมอีลินขึ้นมาเป็นช่วงที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการเรียนรู้ นั่นคือสมองมีการอัปเกรดการเชื่อมต่อ แต่เมื่อกระบวนการดังกล่าวเสร็จสิ้นลงก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลง"
           ช่วงเวลาดังกล่าวแตกต่างกันออกไปในสมองแต่ละส่วน เช่น สมองส่วนภาษาต้องได้รับการห่อหุ้มจากไมอีลินอย่างมากในช่วง 13 ปีแรกของชีวิตขณะที่เด็กกำลังเรียนรู้ภาษา. กระบวนการห่อหุ้มอย่างสมบูรณ์ทำให้สิ่งที่เรียนรู้นั้นคงอยู่แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้การเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างเช่นภาษาที่สองทำได้ยากขึ้น การก่อตัวหรือห่อหุ้มด้วยไมอีลินของสมองส่วนหน้าที่ชะลอมาจนถึงช่วงท้ายของวัยรุ่นและวัยยี่สิบต้นๆนี้ ทำให้สมองมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น ขณะที่เราก้าวเข้าสู่โลกกว้างและเผชิญความท้าทายในฐานะผู้ใหญ่ กระบวนการพัฒนาของสมองที่กินเวลายาวนานเชื่องช้าจากส่วนหลังไปส่วนหน้า ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ในช่วงกลางของวัย 20 ปี ดูเหมือนเป็นกลยุทธ์การปรับตัวอันเป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์  และอาจเป็นการปรับตัวที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งที่ส่งผลต่อเผ่าพันธุ์ของเรา

                                                                อาจารย์อุมาพร  ไวยารัตน์  ผู้เรียบเรียง
ละครชุด "ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น" ตอนอะดรีนาลีน